Loading...

หลักสูตรปริญญาเอก

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่เน้นการผลิตบัณฑิตให้เป็นนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี การสร้างองค์ความรู้และความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัยในสาขาต่างๆ ทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพการงาน ในหลากหลายสาขาวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์

รายชื่อหลักสูตรทั้งหมดที่เปิดสอน 

รายละเอียดการสมัครเรียน

ทุนการศึกษา

View by Categories

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา เทคโนโลยีการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชา เทคโนโลยีการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงลึกเพื่อค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆในด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมรวมถึงการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีความสามารถด้านการคิดค้นวิจัยอย่างเป็นระบบรองรับการพัฒนางานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาชีพระหว่างผู้เรียน และเปิดโอกาสทางการศึกษาระดับสูงด้านเทคโนโลยีการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงนักศึกษาจากนานาประเทศ ซึ่งน าไปสู่การแก้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้มีความกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมทางการแพทย์ (หลักสูตรพหุวิทยาการ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมทางการแพทย์ เป็นหลักสูตรที่มีองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ ระหว่างวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เช่น แพทยศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น ผู้ที่จบปริญญาจากหลักสูตรนี้จะมีความรู้คู่คุณธรรม มีประสบการณ์การทำวิจัยและพัฒนาระดับสากล และมองประเด็นปัญหาอย่างบูรณาการ รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาในและต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาและผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การพัฒนาและสร้างอวัยวะเทียม การช่วยบำบัดรักษาโรคที่มีความยากและมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพของมนุษย์ต่อไป ตลาดแรงงาน หรือ กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ  มีความต้องการบัณฑิตที่มีองค์ความรู้บูรณาการในด้านวิศวกรรมทางการแพทย์มากขึ้น ตามคุณภาพชีวิตของประชาชนที่สูงขึ้น เช่น โรงพยาบาลต้องการผู้ดูแลและบำรุงรักษาระบบและเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพง ซึ่งปัจจุบันอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องวัดสัญญาณไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น บริษัทที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ต้องการผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการศึกษาความต้องการของตลาด การดูแลและสาธิตเครื่องมือ การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบและเครื่องมือ รวมทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมาก เช่น นโยบายประกันคุณภาพด้านสุขภาพของประเทศ นโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์บริการสุขภาพมาตรฐาน (Health Hub) ระดับโลก เป็นต้น

แนวทางการประกอบอาชีพ
     1. วิศวกรโรงงาน วิศวกรซ่อมบำรุง วิศวกรด้านการออกแบบ วิศวกรขายอุปกรณ์ / เครื่องจักร
     2. นักวิจัย
     3. นักวิชาการ
     4. นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงาน
     5. นักเขียนโปรแกรม
     6. นักวิชาชีพในสถานประกอบการที่มีการใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมทางการแพทย์ 

รายละเอียดเพิ่มเติม

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์

 

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มีองค์ความรู้และความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัยในสาขาต่างๆ เช่น สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อผลิตนักวิชาการและนักวิจัยที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีที่สามารถทำการวิจัยระดับสูงและกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีคุณภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและปรับปรุงอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยายบรรณในการประกอบอาชีพการงาน

แนวทางประกอบอาชีพ

วิศวกร วิศวกรที่ปรึกษาโครงการ นักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหรือประกอบอาชีพอิสระด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

รายละเอียดเพิ่มเติม

หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางสาขาต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ประเทศไทยกำลังประสบในขณะนี้คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถที่จะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีจำนวนมากเพื่อที่จะสร้างและผลักดันเทคโนโลยีที่ประเทศต้องการ เหตุผลหนึ่งของการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าวเนื่องจากสถาบันการศึกษาในประเทศยังไม่สามารถผลิตบุคลากรในระดับปริญญาเอกซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้อย่างเพียงพอตามความต้องการ และการสนับสนุนผู้มีศักยภาพเพื่อศึกษาในระดับปริญญาเอกในต่างประเทศต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงทำให้ปริมาณของนักวิจัยและพัฒนาที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ มีจำนวนน้อย

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พัฒนาการเรียนการสอนและงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมโยธา จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้พิจารณาว่าการผลิตบุคลากรที่มีทักษะทางการวิจัย และเทคโนโลยีจะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากำลังคนและกิจกรรมงานวิจัยอย่างต่อเนื่องจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยนอกจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นักศึกษาหรือนักวิจัยยังสามารถทำความร่วมมือทางการวิจัยกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมากที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง สิ่งแวดล้อมทางวิชาการเหล่านี้จะเกื้อหนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกสามารถพัฒนาความรู้เชิงวิชาการและวิจัยเข้าสู่ระดับสากล โดยที่ในขณะเดียวกันยังสามารถนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศที่ต้องการเทคโนโลยีในระดับสูงได้จริง

รายละเอียดเพิ่มเติม